ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองร่วงลงขณะดอลล์แข็งค่า

179

ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองร่วงลงขณะดอลล์แข็งค่า

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐร่วงลง 16.28 ดอลลาร์ สู่ 1,977.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 2,002.89 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งใกล้เคียงกับจุดสูงสุดรอบ 1 ปีที่ทำไว้ในวันที่ 20 มี.ค.ที่ 2,009.59 ดอลลาร์ โดยราคาทองได้รับแรงหนุนในช่วงแรก เนื่องจากความกังวลที่มีต่อวิกฤติภาคธนาคารช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และราคาทองยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย อย่างไรก็ดี ราคาทองร่วงลงในช่วงต่อมา ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 103.11 ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 102.60 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดร่วงลง 0.6% สู่ 1,983.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 0.101 ดอลลาร์ สู่ 23.222 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดร่วงลง 7.60 ดอลลาร์ สู่ 976.84 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดดิ่งลง 14.85 ดอลลาร์ หรือ 1.04% สู่ 1,415.66 ดอลลาร์/ออนซ์

  • นายบาร์ท เมเลค หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของบล.ทีดีกล่าวว่า ราคาทองอาจจะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และจากการดีดขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐในวันศุกร์ แต่ราคาทองมีแนวโน้มที่จะยังคงได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากความเคลื่อนไหวในเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนี้ นายบ็อบ ฮาเบอร์คอร์น นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของบริษัทอาร์เจโอ ฟิวเจอร์สกล่าวว่า “ถ้าหากมีความกังวลกันว่า ธนาคารในสหรัฐมีปริมาณเงินกองทุนไม่เพียงพอ ราคาทองก็จะได้รับแรงหนุนจากความกังวลดังกล่าว”

  • มาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารช่วยลดความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อวิกฤติภาคธนาคารในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และส่งผลให้ราคาทองปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการร่วงลง 0.54% จากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับแรงกดดันอีกครั้งในวันศุกร์ โดยหุ้นธนาคารดอยช์ แบงก์ของเยอรมนีรูดลง 8.5% และหุ้นธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ดิ่งลง 3.6% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าปัญหาในภาคธนาคารยังไม่ได้รับการควบคุม

  • เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)กล่าวว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ภาวะตึงเครียดทางการเงินทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเฟดจัดการประชุมในวันที่ 21-22 มี.ค. และปัจจัยดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เฟดสามารถมุ่งความสนใจไปยังการปรับลดภาวะเงินเฟ้อ โดยผ่านทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ทั้งนี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์, นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา และนายโธมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ระบุในวันศุกร์ว่า เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75-5.00% ในวันที่ 22 มี.ค. เพราะเฟดมีความเชื่อมั่นว่า ระบบธนาคารไม่ได้เผชิญกับวิกฤติสภาพคล่อง นอกจากนี้ นายบูลลาร์ดยังระบุอีกด้วยว่า การล้มของธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (SVB) ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวิธีการบริหารธนาคารแห่งอื่น ๆ และเขาได้ปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดสำหรับช่วงสิ้นปี 2023 สู่ 5.50-5.75% ซึ่งเท่ากับว่าเขาคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 3 ครั้งในปีนี้

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

เปิดบัญชีเทรดจริง

ความเห็นถูกปิด แต่trackbacksละ Pingbacks are เปิด